การจัดจำแนกและการระบุชนิดไลเคน
ขั้นตอนการจัดจำแนกชนิดของไลเคนโดยทั่วไปมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ (ทุกขั้นตอนควรถ่ายรูปเก็บไว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะขั้นตอนที่ต้องส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์ เช่น สปอร์และโครงสร้างแทลลัส เป็นต้น)
1. คัดแยกกลุ่มไลเคนจากรูปแบบการเติบโต
เมื่อเราได้ตัวอย่างไลเคนมาแล้ว และต้องการทราบว่าไลเคนเหล่านี้มีชื่ออะไรบ้าง สิ่งแรกที่เราควรทำคือคัดแยกหมวดหมู่ของไลเคนเหล่านั้น โดยเริ่มจากลักษณะกว้าง ๆ ก่อน นั้นคือ แยกโดยใช้รูปแบบการเติบโต (growth form) ซึ่งโดยทั่วไปไลเคนแบ่งรูปแบบการเติบโตอออกเป็น 3 กลุ่ม หลัก ๆ คือ กลุ่มครัสโตสไลเคน (crustose), กลุ่มโฟลิโอสไลเคน (foliose) และกลุ่มฟรูทิโคส (fruticose) ดังภาพด้านล่าง การจัดแยกหมวดหมู่ของไลเคนแบบนี้จะช่วยให้การจำแนกชนิดไลเคนทำได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเลือกใช้คู่มือการจัดจำแนก (key)
ครัสโตส (crustose) |
โฟลิโอส (foliose) |
ฟรูทิโคส (fruticose) |
2. คัดแยกกลุ่มไลเคนจากโครงสร้างสืบพันธุ์ภายนอก
ไลเคนในหนึ่งกลุ่มสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (sexsual reproductive struture) หลายแบบ บางชนิดสร้างแอโพทิเชียแบบจาน (disc-like apothecia) บางชนิดสร้าง แอโพทิเชียแบบริมฝีปากหรือลายเส้น (lirellate apothecia) และบางชนิดสร้างแบบเพอริทิเชีย (perithecia) ดังภาพด้านล่าง การแยกกลุ่มไลเคนแบบนี้เป็นการช่วยย่อยความหลากหลายของไลเคนลงไปอีกขั้น เนื่องจากไลเคนแต่ละชนิดมีโครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเพียงแบบใดหรือแบบหนึ่งเท่านั้น
แอโพทิเชียแบบจาน |
แอโพทิเชียแบบเส้น |
เพอริทิเชีย |
3. วิเคราะห์ลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายนอก
ภายหลังจากที่แยกกลุ่มไลเคนเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือบันทึกลักษณะที่เฉพาะของไลเคนแต่ละตัวอย่างเพื่อนำเอาลักษณะเฉพาะเหล่าไปเทียบกับคู่มือการจัดจำแนกเพื่อค้นหาชื่อของไลเคนชนิดนั้น ๆ ต่อไป สิ่งที่ต้องบันทึกเป็นอันดับแรกคือลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายนอกที่สามารถมองเห็นด้วยตา ได้แก่
- สีและลักษณะของแทลลัส
- ขนาดและลักษณะของโลป
- สีและลักษณะของโครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
- ชนิดของโครงสร้างสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (soredia หรือ isidia)
- มีขน (cilia) ที่ขอบโลปหรือไม่มี
- มี rhizine หรือ holdfast หรือ ไม่มี
- อื่น ๆ
ซอริเดีย (soredia) |
ไอซิเดีย (isidia) |
ขน (cilia) มีลักษณะคล้าย |
4. วิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างภายในของแทลลัส
สิ่งที่ต้องบันทึกในลำดับถัดมาคือลักษณะโครงสร้างภายในของแทลลัส ได้แก่
- ชนิด/กลุ่มของสาหร่ายที่เป็นองค์ประกอบในชั้นของสาหร่าย (สาหร่ายสีเขียวหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน)
- การเรียงตัวของชั้นต่าง ๆ ในไลเคนมีอยู่ 2 แบบ คือ heteromerous กับ homoiomerous
- การเรียงตัวของรา ซึ่งมีอยู่ 2 แบบหลัก ๆ คือ paraplectenchyma กับ prosoplectenchyma
- อื่น ๆ
โครงสร้างแทลลัสแบบ heteromerous |
โครงสร้างแทลลัสแบบ homoiomerous |
การเรียงตัวของเส้นใยราแบบ |
5. วิเคราะห์ลักษณะภายในของโครงสร้างสืบพันธุ์
ลักษณะภายในของโครงสร้างสืบพันธุ์มีความสำคัญมาก ไลเคนแทบทุกชนิดจะสามารถระบุชื่อได้ ต้องอาศัยความแตกต่างของโครงสร้างเหล่านี้ สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ
- สปอร์ (ขนาด, สี, รูปร่าง)
- paraphysis,
- ลักษณะของ exciple (สี, รูปร่าง, ขอบมีสาหร่าย/ไม่มี)
- หยดน้ำมัน
- อื่น ๆ
ภาพตัดตามขวางแอโพทิเชีย |
สปอร์ลักษณะชนิดต่าง ๆ |
6. ทดสอบสารเคมี
การทดสอบสารเคมีเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับการวิเคราะห์ลักษณะของสปอร์ ไลเคนหลายชนิดต้องต้องใช้สารเคมีเป็นตัวบ่งชี้ถึงชนิด นักอนุกรมวิธานส่วนใหญ่ใช้วิธีการ spot test และ TLC (Thin Layer Chromatography) เพื่อให้ทราบถึงชนิดของสารเคมีในไลเคน
7. วิเคราะห์หาชนิดไลเคนโดยใช้คู่มือการจัดจำแนก (Key)
หลังจากที่ได้ข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เราก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ น่าตื่นเต้นและจะนำเราไปสู่ชื่อของไลเคนชนิดนั้น ๆ ขั้นตอนนี้คือการเทียบข้อมูลกับคู่มือการจัดจำแนก คู่มือการจัดจำแนกไลเคนเหล่านี้มีให้เลือกหลากหลายทั้งหนังสือของไทยและต่างประเทศ เช่น
- ไลเคนแห่งเกาะแสมสาร จากยอดเขาถึงชายทะเล
- การศึกษาครัสโตสไลเคน วงศ์ฟิสเซียซิอิ ในประเทศไทย
- ระบบทางอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคน วงศ์กราฟิดาซิอิ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
- ความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนแบบแผ่นใบ และแบบเส้นสายที่พบ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- อนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาของไลเคนวงศ์กราฟิดาซิอิ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- ความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนบนใบไม้ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- การศึกษาทางอนุกรมวิธานของไลเคนวงศ์พาร์มีเลียซิอิในประเทศไทย
- การศึกษาอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาของไลเคนวงศ์ทริพพิทิเลียซิอิในประเทศไทย
- อนุกรมวิธานของไลเคนแบบแผ่นจาน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
- Macrolichens of East Africa
- Lichens of North America
- Seychelles Lichen Guide
- Flora of Australia Vol. 53 - 58
- อื่น ๆ
8. ตรวจสอบชนิดจากความแตกต่างของ DNA (phylogeny)
การวิเคราะห์ชนิดของไลเคนจากความแตกต่างของ DNA เป็นเทคนิคขั้นสูง ผู้ที่จะสามารถใช้วิธีนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการใช้เป็นอย่างดี วิธีการนี้สามารถแยกชนิดของไลเคนได้ชัดเจนที่สุด มีความจำเป็นมากสำหรับไลเคนบางชนิดที่ไม่สามารถใช้คู่มือทั่วไปในการจัดจำแนกได้ และส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันชนิดของไลเคนชนิดใหม่ของโลก (new species) ถึงแม้ว่าวิธีการนี้จะเทคนิคขั้นสุดยอดสำหรับการบ่งชี้ชนิดของไลเคน แต่นักอนุกรมวิธานส่วนใหญ่เลือกใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาควิทยาและสารเคมีในไลเคน ในการจำแนกชนิดไลเคน เนื่องจากลักษณะดังกล่าวนี้สามารถให้ข้อมูลเพียงพอต่อการนำไปใช้จัดจำแนกชนิดของไลเคนโดยส่วนใหญ่