ไลเคนคืออะไร
ไลเคน (lichen) คือ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง เกิดจากการมาอยู่ร่วมกัน (symbiosis) ของรา (fungi) เรียกว่า mycobiont กับสาหร่าย (algae) และ/หรือ ไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) เรียกว่า photobiont (เรียก phycobiont สำหรับสาหร่าย และเรียก cyanobiont สำหรับ cyanobacteria/blue green algae) โดย mycobiont มีหน้าที่เก็บความชื้นและป้องกันอันตรายให้กับ photobiont ส่วน photobiont ทำหน้าที่สร้างอาหารและแบ่งปันให้ mycobiont ดังนั้นทั้งสองต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ทำให้ไลเคนเกิดขึ้นได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
นักไลเคนวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่าการอยู่ร่วมกันของ mycobiont และ photobiont ในไลเคน เป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน (mutualism) อย่างไรก็ตาม นักไลเคนวิทยาบางส่วนเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันนี้ น่าจะเป็นแบบ controlled parasitism มากกว่า จนถึงบัดนี้ ข้อโต้แย้งนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่า mycobiont และ photobiont ในไลเคนนั้น แท้ที่จริงแล้วมีความสัมพันธ์กันแบบไหนกันแน่ ด้วยเหตุนี้ textbooks หรือ papers หลาย ๆ เรื่อง จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะระบุชัดไปว่า ไลเคนนั้นเป็นความสัมพันธ์แบบ mutualism หรือ controlled parasitism แต่จะใช้คำที่ครอบคลุมทั้งสอง นั่นคือ symbiosis แทน (Nash, 2008)
คำว่า lichen (ไลเคน) เป็นภาษากรีกซึ่ง Theophratus ได้บรรยายไว้ในหนังสือ History of Plant ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพืช เติบโตอยู่บนเปลือกไม้
![]() |
![]() |
![]() |
ตัวอย่างไลเคนในสภาพธรรมชาติ ครัสโตสไลเคน (ซ้าย) โฟลิโอสไลเคน (กลาง) และฟรูทิโคสไลเคน (ขวา) |
ไลเคนเกือบทุกชนิดมีสัดส่วนของ mycobiont ประมาณ 90 - 93 เปอร์เซ็นต์ และมีสัดส่วนของ photobiont เพียง 7 - 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น (ภาพที่ 2) (Collins and Farrar, 1978; Ahmadjian, 1993; Sundberg et al., 1999) ด้วยเหตุที่มีสัดส่วนสำหรับสร้างอาหารน้อยประกอบกับช่วงเวลาในการสร้างอาหาร (สังเคราะห์แสง) มีจำกัด จึงส่งผลให้ไลเคนเติบโตได้ช้า อย่างไรก็ตาม ไลเคนบางกลุ่มมีสัดส่วนของ photobiont มากกว่า mycobiont เช่น สกุล Coenogonium
โครงสร้างภายในของไลเคนแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน หลัก ๆ ดังนี้ (ภาพที่ 2)
1. ชั้นคอร์เท็กซ์บน (upper cortex layer) เป็นชั้นที่อยู่ด้านบนสุดของแทลลัส (แทลลัส (thallus) คือ คำลักษณะนามที่ใช้เรียกไลเคน เช่นเดียวกับต้นสำหรับพืช หรือตัวสำหรับสัตว์ เป็นต้น) ชั้นคอร์เท็กซ์นี้มีหน้าที่สำคัญคือป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะความเข้มแสงสูง และการกัดกินของสัตว์จำพวกแมลง ไลเคนส่วนใหญ่มีชั้นนี้แต่ไลเคนบางชนิดอาจไม่พบ
2. ชั้นสาหร่าย (algae layer) เป็นชั้นที่อยู่ด้านล่างของชั้นคอร์เท็กซ์บน มีหน้าที่สำคัญคือสร้างอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง สาหร่ายในชั้นนี้เรียกว่า photobiont (เรียก phycobiont สำหรับสาหร่าย และเรียก cyanobiont สำหรับ cyanobacteria/blue green algae) ไลเคนส่วนใหญ่ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ มีสาหร่ายสีเขียว (green algae) เป็นองค์ประกอบของชั้นนี้, ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นไซยาโนแบคทีเรียหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobateria หรือ blue-green algae), ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งไซยาแบคทีเรียและสาหร่ายสีเขียว รู้จักกันในชื่อ cephalodiate lichens และ photosymbiodemes และอีก <1 เปอร์เช็นต์ เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล (brown algae: e.g. Petroderma (Phaeophyceae), Heterococcus (Xanthophyceae)) (Sanders et al., 2004; Friedl & Budel, 2008)
3. ชั้นเมดัลลา (medulla layer) ชั้นนี้เป็นชั้นของรา อยู่ถัดจากชั้นสาหร่ายลงมา ราในไลเคน เรียกว่า mycobiont ส่วนใหญ่เป็นราในกลุ่ม Ascomycota (ca. 98%) มีส่วนน้อยเป็นราในกลุ่ม Basidiomycota (ca. 0.4%) และกลุ่ม Deuteromycota/anamorphic fungi/fungi imperfecti/imperfect fungi ประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ (Honegger, 2008) ชั้นนี้มีหน้าที่สำคัญคือกักเก็บความชื้นและสร้างสารที่จำเป็นต่อการเติบโตและการอยู่รอดของไลเคน
4. ชั้นคอร์เท็กซ์ล่าง (lower cortex layer) เป็นชั้นที่อยู่ล่างสุดของแทลลัส มีหน้าที่หลักคือยึดเกาะกับพื้นที่ยึดเกาะอาศัย (substrate) ไลเคนบางชนิดมีชั้นนี้ แต่บางชนิดไม่มี โดยเฉพาะไลเคนในกลุ่มคลัสโตส
![]() |
ภาพตัดตามขวางแทลลัสของไลเคน (ภาพด้านช้ายคือภาพจำลองส่วนภาพด้านขวาคือภาพจริง) |
แม้ว่าองค์ประกอบของไลเคนประกอบด้วยราและสาหร่าย แต่ไลเคนก็ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของสาหร่ายแต่อย่างไร แต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของรา (fungi) นอกจากนี้ การจำแนกชนิดและการตั้งชื่อของไลเคนอาศัยคุณสมบัติของราเป็นหลัก ดังนั้น ชื่อไลเคนก็คือชื่อของรา (mycobiont) ที่อยู่ในไลเคนชนิดนั้น แต่สาหร่าย (photobiont) มีชื่อแยกต่างหาก เช่น ไลเคนชนิด Parmotrema tinctorum ประกอบด้วยราชนิด Parmotrema tinctorum และสาหร่ายชนิด Trebouxia sp. จะเห็นว่าชื่อไลเคนและราเป็นชื่อเดียวกัน ไลเคนถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้านราวิทยา (mycology) และพฤกษศาสตร์ (botany) ทั้ง ๆ ที่การศึกษาด้านพฤกษศาสตร์เน้นไปที่การศึกษาด้านพืช แต่นักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าไลเคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ ไลเคนส่วนใหญ่ถูกค้นพบโดยนักพฤกษศาสตร์ งานประชุมพฤกษศาสตร์นานาชาติ (IBC) ก็มี session ของไลเคนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง หรือแม้แต่วารสารวิชาการด้านพฤกษศาสตร์หลาย ๆ ฉบับก็มีงานวิจัยด้านไลเคนลงตีพิมพ์อยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้การตั้งชื่อไลเคนก็อาศัยหลักการเดียวกับการตั้งชื่อพืช
ไลเคนมีความหลากหลายมาก พบได้ตั่งแต่พื้นที่ที่หนาวจัดอย่างเขตขั้วโลกถึงพื้นที่ที่ร้อนจัดอย่างทะเลทราย สามารถพบได้ที่ทุกระดับความสูงตั่งแต่ทะเลถึงยอดเขาสูง นักไลเคนวิทยาประเมินว่าระบบนิเวศบนบกประมาณ 8 - 10 เปอร์เซ็นต์ของโลก ถูกป้องคลุมด้วยไลเคน (Larson, 1987; Seaward, 2008)
ปัจจุบันสำรวจพบไลเคนแล้ว 19,409 ชนิด (species) 1,002 สกุล (genera) 119 วงศ์ (families) 40 อันดับ (orders) และ 8 ชั้น (classes) (Lucking, Hodkinson & Leavitt, 2017) ส่วนในประเทศไทยพบแล้ว 1,292 ชนิด (Buaruang et al., 2017)
![]() |
![]() |
ความหลากหลายของไลเคนในทะเลทราย Atacama ประเทศชิลี (ภาพซ้าย) และความหลากหลากของไลเคนบริเวณเขตขั่วโลก (ที่มา: http://www.atacamaphoto.com (ภาพซ้าย) และ http://churchillpolarbears.org/2010/10/october-21-2010/ (ภาพขวา) |