พิพิธภัณฑ์ไลเคน (RAMK Herbarium)
พิพิธภัณฑ์ไลเคนแห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นพิพิธภัณฑ์ไลเคนแห่งแรกของประเทศไทย เป็นสถานที่รวบรวมตัวอย่างไลเคนในประเทศไทย และตัวอย่างจากต่างประเทศซึ่งได้รับบริจาคมาจาก Prof. Dr. Philip Rundel จดทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์ไลเคนอย่างเป็นสากล ใช้ชื่อย่อพิพิธภัณฑ์ว่า RAMK (Ramkhamhaeng University)
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ไลเคนแห่งนี้ได้เริ่มรวบรวบข้อมูลเข้าฐานข้อมูล ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 (ตัวอย่างไลเคนถูกเก็บและรวบรวบไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 แต่ยังไม่ได้เข้าระบบพิพิพิธภัณฑ์) ปัจจุบันได้เก็บรวบรวมตัวอย่างไลเคนไว้มากกว่า 80,000 ตัวอย่างทั้งจากประเทศไทย และอีก 43 ประเทศทั่วโลก
ตัวอย่างทุกชิ้นมีข้อมูลประจำ และจำเพาะของตัวอย่างเช่น สถานที่เก็บ วันที่เก็บ ที่อยู่อาศัย (habitat) ผู้เก็บ เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้มีการบันทึกในฐานข้อมูลเป็นระบบอิเลคโทรนิคด้วยโปรแกรมไมโครซอพท์ แอกเซส
การเก็บตัวอย่างเข้าพิพิธภัณฑ์ต้องผ่านกระบวนการกำจัด รา หรือแมลง ด้วยการแช่แข็ง ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง การจัดเก็บใช้วิธีเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อวิทยาศาสตร์ ภายในห้องควบคุมอุณหภูมิ 20-21 องศาเซลเซียส ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 เปอร์เซ็นต์
การรวบรวมข้อมูลนี้มีจุดประสงค์เพื่อการบันทึกรายละเอียดของตัวอย่างไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้ง่าย และสะดวกต่อการยืมตัวอย่าง หรือนำตัวอย่างไปอ้างอิงในการจัดจำแนกตัวอย่างอื่น
ตัวอย่างทุกชิ้นที่เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ไลเคนนั้นจำเป็นต้องมีรหัส RAMK ซึ่งเป็นรหัสประจำของพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันได้ทำการลงรหัส RAMK แล้วจำนวน 13,726 ตัวอย่าง จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งฐานข้อมูลนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาทางนิเวศวิทยา อนุกรมวิธานของไลเคน และอื่น ๆ
ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ไลเคน
1. เป็นสถานที่เก็บรักษาและรวบรวมสายพันธุ์ไลเคนของประเทศไทย ให้เป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นสื่อกลางให้คนจากหลายชาติหลายภาษารู้จักและเข้าใจตรงกัน โดยจะมีประวัติของการให้ชื่อเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับเวลาจนถึงปัจจุบัน
2. ให้ข้อมูลทางด้านอนุกรมวิธาน (taxonomy) สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ไว้ตรวจวิเคราะห์หาสายพันธุ์ไลเคนในภายหลัง
3. ให้ข้อมูลทางด้านนิเวศวิทยา (Ecology) จากการเก็บสะสมไลเคนเป็นเวลานานหลายปีในสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยให้เราทราบการแพร่กระจาย (distribution) ของไลเคน และสามารถตามกลับไปเก็บมาศึกษาในด้านอื่น ๆ ต่อไปหรือเป็นตัวช่วยในการบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
4. สามารถทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ในทางวิวัฒนาการ (Systematics) และความแปรปรวนทางพันธุกรรมของไลเคนแต่ละชนิดได้
![]() |
![]() |
การเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ไลเคน
เปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ (โปรดติดต่อนัดวันและเวลาก่อนเข้าชม)
การแต่งกาย: ควรแต่งกายสุภาพ
ค่าธรรมเนียม: ฟรี
ติดต่อเข้าชม: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กวินนาถ บัวเรือง e-mail: bkawinnat@gmail.com โทร. 02-3108395